
เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลันอย่างไรให้ปลอดภัย
ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ประสบภัยธรรมชาติ ทั้งจากพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และภัยแล้ง ส่วนประเทศไทยเอง ก็มีหลาย ๆ จังหวัดในทุกภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงกรุงเทพมหานคร และยังคงมีพื้นที่เสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ้านเรือนที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำ หรือ ชุมชนแนวเส้นทางน้ำผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม เป็นแอ่งกะทะ ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง สร้างความเสียหายให้กับประชาชน
ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เราจึงมีวิธีเก็บของหนีน้ำท่วม เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการรับมือ ป้องกันไว้ก่อนเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่น้ำจะไหลบ่ามายังพื้นที่อาศัยดีกว่า เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคน สัตว์เลี้ยง และสิ่งของ
วิธีเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน
1. ยกของหนีน้ำไว้บนที่สูง
นำของมีค่าและของที่อาจได้รับความเสียหาย บรรจุใส่ลังพลาสติก กล่อง หรือถุงดำ โดยแยกประเภทสิ่งของ อะไรที่ห้ามโดนน้ำ หรืออาจชำรุดเสียหายได้หากโดนน้ำ ให้เก็บใส่ในวัสดุกันน้ำ และเขียนกำกับไว้เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ รวบรวมเก็บของหนีน้ำท่วมด้วยการไว้ที่สูง

2. ป้องกันอุบัติภัยจากระบบไฟฟ้า
ย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ปลั๊กไฟ สวิตซ์ไฟ ที่ปกติอยู่ระดับพื้น หรือที่ต่ำเสี่ยงต่อน้ำท่วมถึงให้ย้ายขึ้นไปไว้ในที่สูง เป็นวิธีการป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต ไฟลัดวงจร โดยไม่ลืมที่จะแยกเบรกเกอร์ให้ชุดปลั๊กไฟ และสวิตซ์ไฟในแต่ละชั้น เพื่อสะดวกต่อการตัดกระแสไฟ
3. ซ่อมแซมส่วนของบ้านที่ชำรุด ปิดช่องทางสัตว์มีพิษเข้าบ้าน
ตรวจสอบรอบบริเวณบ้าน เพื่อหาจุดรอยแยก รอยรั่ว ช่องโหว่ ที่อาจเป็นช่องทางให้สัตว์พิษต่าง ๆ สามารถเล็ดลอดเข้าภายในบ้านได้ แล้วทำการซ่อมแซม อุดช่องโหว่ เป็นการป้องกันไว้ รวมไปถึง ตรึงประตู หน้าต่าง และอุปกรณ์ทุกชนิดให้แน่นหนา เพื่อป้องกันความเสียหายจากการกระแทกของมวลน้ำ
4. ปิดกั้นทางน้ำทุกช่องทาง
ใช้กระสอบทรายหรืออุปกรณ์ที่มี หรือฉาบผนังกั้นน้ำชั่วคราว เพื่อปิดกั้นทางเข้า-ออกของบ้าน รวมไปถึงระบบท่อน้ำทิ้ง อย่างท่อระบายน้ำตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ห้องน้ำ หลังครัว ฯลฯ อาจมีน้ำจากภายนอกเอ่อขึ้นมาได้

5. เตรียมอาหาร น้ำสะอาด เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้พร้อม
เตรียมน้ำดื่ม น้ำใช้ อาหารแห้ง อุปกรณ์เวชภัณฑ์และยาโรคประจำตัว อุปกรณ์ฉุกเฉินที่จำเป็น ไว้ให้พร้อม เช่น ไฟฉาย ไฟฉุกเฉิน เสื้อชูชีพ นกหวีด ยาล้างแผล น้ำเกลือ เครื่องนุ่งห่มที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ของส่วนตัวที่จำเป็นต้องใช้ และเตรียมให้พอเพียงกับจำนวนสมาชิกที่มี
6. เตรียมอุปกรณ์สำหรับสิ่งปฏิกูล
ไม่ควรใช้ห้องน้ำหรือส้วมที่ใช้ปกติในระหว่างน้ำท่วม เพราะจะยิ่งเพิ่มความสกปรกให้กับน้ำ อีกทั้งน้ำท่วมมักจะทำให้ส้วมตัน น้ำล้น กดชักโครกไม่ลง และยังเสี่ยงต่อสัตว์มีพิษที่อาจเล็ดลอดมากับท่อระบายน้ำ จึงควรเตรียมอุปกรณ์สำหรับขับถ่ายและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ โดยเลือกเป็นวัสดุที่เก็บได้มิดชิด เพื่อป้องกันการรั่วซึม และการเล็ดลอดของกลิ่น
7. วางแผนเตรียมที่พักชั่วคราว
วางแผนในการเคลื่อนย้ายสถานที่พัก หากระดับน้ำท่วมสูงจนเสี่ยงต่อความปลอดภัย โดยจะต้องวางแผนวิธีการอพยพ เส้นทาง การเดินทาง และนัดแนะกับสมาชิกในครอบครัวให้พร้อมถึงจุดนัดพบ ในกรณีที่พลัดหลงกัน
8. ติดตามข่าว สถานการณ์ และการประกาศเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง
ติดตามข่าวและการประกาศเตือนภัยทุกช่องทาง เพื่อเกาะติดสถานการณ์ และคอยสังเกตสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมรอบตัว มีลมกรรโชกแรง ไฟดับเป็นระยะเวลานาน ฝนตกต่อเนื่องหลายชั่วโมง เป็นต้น เพื่อจะได้เตรียมตัวได้พร้อมทุกขณะ และสามารถเอาตัวรอดจากน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย

9. เคลื่อนย้าย เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย สัตว์เลี้ยง ไปยังที่ปลอดภัย
สำหรับใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเป็นทางน้ำแน่นอน หรือประสบภัยน้ำท่วมบ่อยครั้ง ควรทำการอพยพผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรืออาจเดินทางลำบากเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เด็ก คนสูงอายุ คนป่วย และสัตว์เลี้ยง ไปยังที่ปลอดภัยไว้ก่อนล่วงหน้า จะได้ไม่ฉุกละหุก เมื่อกระแสน้ำไหลท่วมเข้าในพื้นที่
10. จัดเตรียมข้อมูลแหล่งข่าวและการติดต่อขอความช่วยเหลือ
หาข้อมูลแหล่งข่าวที่สามารถติดตามสถานการณ์ และข้อมูลจากภาครัฐฯได้ รวมไปถึงช่องทางการติดต่อขอความช่วยเหลือ บันทึกที่สามารถเห็นได้ง่าย หรือจดจำหมายเลขติดต่อที่สำคัญ ๆ ไว้
- 1784 ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- 1669 ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และ อุบัติเหตุ
- 02-398-9830 กรมอุตุนิยมวิทยา (สอบถามสภาพภูมิอากาศ)