โรคลมชักปฐมพยาบาลถูกวิธี ช่วยทัน ผู้ป่วยรอดชีวิต
อาการชัก มักเกิดขึ้นกับปฏิกริยาทางร่างกายที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้ และมักจะมีอาการกระทันหันอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยอาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการเกร็งหรือกระตุกของอวัยวะ หรือกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น มือ แขน ขา หรือใบหน้าบิดเบี้ยว คอบิดเกร็ง หรืออาจมีอาการส่งเสียงแปลก ๆ ซึ่งอาการที่มีมักจะเป็นแบบเดิม ๆ เช่น เมื่ออาการกำเริบมักจะกระตุกที่ขาซ้าย ก็จะมีอาการขาซ้ายกระตุกเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนไปข้างขวา หรือเปลี่ยนไปเป็นกระตุกที่แขนหรือมือ
โรคลมชักคืออะไร
โรคลมชัก คือ โรคที่ส่งผลต่อร่างกายทำให้มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการได้ และมักจะเกิดขึ้นอย่างกระทันหันโดยไม่มีอาการบ่งบอกล่วงหน้า
โรคลมชักเกิดจากอะไร
สาเหตุโรคลมชักเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการชักได้
- โรคลมชักเกิดจากคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมอง หรือมีความผิดปกติทางด้านโครงสร้างสมองจากรอยโรคสมอง เช่น เนื้องอกสมอง เส้นเลือดสมองผิดปกติ เคยขาดออกซิเจนที่สมองชั่วขณะ สมองส่วนความจำกระทบกระเทือน (ฮิปโปแคมปัส)
- พันธุกรรม โดยเป็นกลุ่มอาการที่มักจะเกิดโรคลมชักตามอายุ มีระบบประสาทผิดปกติ เซลล์สมองพัฒนาผิดรูป
- จากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อโปรโตซัว ได้รับเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อไวรัส มีพยาธิในสมอง เป็นต้น
- เมตาบอลิซึมไม่สมดุล เช่น เกลือแร่ น้ำ น้ำตาลไม่สมดุล มีภาวะระดับเกลือโซเดียมในเลือด หรือระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง/ต่ำเกินไป เป็นต้น
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (SLE) โรคไข้สมองอักเสบบางชนิด เป็นต้น
- ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งไม่สามารถหารอยโรคในสมอง หรือสาเหตุที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดโรคลมชักในผู้ป่วย
ระยะเวลาอาการเกิดโรคลมชัก
มักจะเกิดอาการชักเป็นเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจตั้งแต่ 10 วินาที หรือมากไปจนถึง 5 นาที สามารถหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการชักรุนแรง จนอวัยวะบางส่วนไม่ทำงาน หรือไปปิดกั้นการทำงานในส่วนอื่น ๆ เช่น ระบบหายใจ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากใครมีอาการที่ดังกล่าว หรือรู้สึกว่ามีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของร่างกาย และไม่สามารถควบคุมได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสมของอาการ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคลมชักรุนแรงมากขึ้นจนอาจทำให้เสียชีวิตได้
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบคนมีอาการลมชักกำเริบ
หากเราพบคนมีอาการชักเกร็ง ให้คิดว่าเป็นโรคลมชักไว้ก่อน ควรเรียกรถพยาบาลทันที และรีบทำการปฐมพยาบาลระหว่างรอรถจากโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องทำให้ถูกวิธีและระมัดระวัง โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ห้ามนำสิ่งของใด ๆ ยัดปากผู้ป่วย
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้นำ้ลายอุดกั้นทางเดินหายใจ
- ถอดแว่นตาหรือฟันปลอมออกในกรณีที่ผู้ป่วยสวมอยู่ หรือคลายผ้าให้หลวมหากสวมเสื้อผ้ารัด
- หาหมอนหรือของนุ่ม ๆ มารองศีรษะผู้ป่วยเพื่อป้องกันศีรษะกระแทก
- เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกห่างจากบริเวณสุ่มเสี่ยง เช่น เสาไฟฟ้า บ่อน้ำ ท้องถนน หรือที่สูง เป็นต้น
- จับเวลา หากชักเกิน 3 นาที ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อการชักต่อเนื่อง
- ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพังขณะที่เกิดอาการชัก หรือหลังจากมีอาการกำเริบ
- ห้ามมัด ง้าง งัด ถ่าง หรือ กดตัวผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยหยุดชัก
การดูแลผู้ป่วยลมชักแล้วหายได้เองภายในเวลารวดเร็ว หรือเมื่อได้รับการรักษาและมีอาการดีขึ้นแล้ว
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินขณะที่ทำการพักฟื้น
- หากผู้ป่วยหลับอยู่ ควรปล่อยให้ผู้ป่วยหลับและพักให้เพียงพอ
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยทานอาหารทุกชนิดทันทีหลังมีอาการชักใหม่ ๆ
การปฐมพยาบาลง่าย ๆ เพียงเท่านี้ ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยลมชักปลอดภัยได้ และอย่าได้หลงเชื่อที่ว่า เมื่อเจอคนชัก ให้หาช้อนหรือวัตถุสิ่งของเข้าปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้นเด็ดขาด เพราะเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะผู้ป่วยขณะที่ชักนั้นจะไม่สามารถกัดลิ้นตนเองได้ แต่การยัดสิ่งของเข้าปากผู้ป่วยจะยิ่งไปทำให้กีดขวางช่องทางลม และอุดกั้นทางระบบหายใจ จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนมากกว่าเพราะอาการชัก และสำหรับใครที่มีอาการดังกล่าว หรือมีคนใกล้ตัวเป็นดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ดีที่สุด