รู้จัก “นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ใกล้สูญพันธุ์
วันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามมติคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เห็นชอบให้ “นกชนหิน” (Helmeted Hornbill หรือ Rhinoplax vigil) เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทย จากเดิมเป็นเพียงสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อช่วยยกระดับความคุ้มครองนกชนหิน และถิ่นอาศัยให้สอดคล้องกับมาตรการนานาชาติ ให้สังคมเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์มากขึ้น เนื่องจากนกชนิดนี้มีอัตราการขยายพันธุ์น้อย เพียงปีละครั้ง และครั้งละ 1 ตัวต่อคู่เท่านั้น ทั้งยังมีภัยคุกคากจากการล่าของมนุษย์เพื่อเอาลูกนก เอาโหนกของมันไปค้าขาย
ลักษณะและนิสัยของนกชนหิน
นกชนหิน มีขนาด 120 เซนติเมตร เป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกแข็งตันคล้ายงาช้างสีแดงคล้ำ ขนตามตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องขาวนวล หางขาวมีแถบดำพาดขวางคล้ายหางนกกก มีขนหางยาวพิเศษ 2 เส้น ซึ่งยาวเกินส่วนหางออกไปถึง 50 เซนติเมตร ขอบปีกขาว ปากสั้นแข็งสีแดงคล้ำ ปลายปากสีเหลือง ตัวผู้มีหนังเปลือยบริเวณคอสีแดงคล้ำ ตัวเมียส่วนนี้เป็นสีฟ้าอ่อนจนถึงสีน้ำเงิน ตัววัยรุ่น ตัวผู้บริเวณคอสีแดงเรื่อตัวเมียส่วนนี้มีสีม่วง โหนกมีขนาดรูปมนสีน้ำตาลแดง ขนหางยังไม่เจริญเต็มที่
นกชนหินปกติหากินระดับยอดไม้ ตัวผู้จะร้องเสียงดังมาก ตุ๊ก…ตุ๊ก… ทอดเป็นจังหวะ ร้องติดกันยาว เสียงร้องกระชั้นขึ้นเป็นลำดับ เมื่อสุดเสียงจะคล้ายกับเสียงหัวเราะ ประมาณ 4-5 ครั้ง เมื่อตกใจจะแผดเสียงสูงคล้ายเสียงแตร เมื่อต่อสู้กันจะบินเอาโหนกชนกันกลางอากาศทำให้เกิดเสียงดัง
การทำรัง
นกชนหิน จะเริ่มปิดปากรังเดือนมีนาคม-เมษายน ลูกนกออกจากรังราวเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม พบลักษณะรังจะพิเศษกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ คือ รังจะเป็นปุ่มปมยื่นออกมา ทำรังในต้นตะเคียน กาลอ ตอแล พฤติกรรมการเลี้ยงลูกเป็นแบบ พ่อนกเลี้ยงเพียงตัวเดียว โดยพ่อนกจะหาอาหารมาเลี้ยงลูกนกและแม่นก และจะเลี้ยงลูกได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น
งาสีเลือด หยกทองคำ ชีวิตที่ต้องสังเวยให้ความเชื่อ
ปัจจุบันมีนกชนหินเหลืออยู่ใประเทศไทยไม่เกิน 100 ตัว หรืออาจน้อยกว่านั้น สาเหตุหลักมาจากการถูกล่าอย่างหนักโดยน้ำมือมนุษย์ เพื่อนำเอาอวัยวะส่วน “โหนก” ไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับ สร้อย กำไล ตามความเชื่อที่ว่าสามารถช่วยเสริมสิริมงคล ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในประเทศจีนและสิงค์โปร รู้จักกันในชื่อ “งาสีเลือด” หรือ “หยกทองคำ” ‘
ไม่เพียงแค่ที่ไทยเท่านั้นที่จำนวนประชากรนกชนหินเข้าขั้นวิกฤต ในระดับโลกนกชนหินก็ถูกคุกคามอย่างหนัก โดยเริ่มตั้งแต่แถบหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ที่คาดว่ามีการล่านกชนหินไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตัว ซึ่งทำให้จำนวนนกชนหินลดลงอย่างรวดเร็ว การล่าขยายขอบเขตเรื่อยมายังประเทศใกล้เคียงตั้งแต่ เมียนมา ลาว และไทย
สัตว์ป่าสงวนไทยปัจจุบัน
นอกจากนกชนหินแล้ว ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระซู่ กวางผา กูปรีหรือโคไพร เก้งหม้อ ควายป่า พะยูนหรือหมูน้ำ แมวลายหินอ่อน แรด ละองหรือละมั่ง เลียงผา วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ สมเสร็จ และสมัน
- สัตว์ป่าจำพวกนก ได้แก่ นกกระเรียน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ
- สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่เต่ามะเฟือง
- สัตว์ป่าจำพวกปลา ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ
ซึ่งหากเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังที่กล่าวข้างต้น สามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมได้